คู่มือการบริหารความเสี่ยง กองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปีบัญชี 2565

               ฮัจย์ เป็นหนึ่งในห้าของข้อปฏิบัติที่มุสลิมต้องปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติ ๕ ข้อ คือ การปฏิญาณตนการละหมาด การบริจาค หรือจ่ายซากาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจย์) เป็นศาสนกิจของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้มุสลิมที่มีความพร้อมต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตอันหมายถึงทั้งด้านทรัพย์สินและด้านร่างกาย รัฐบาลได้ตระหนักเสมอถึงความสำคัญดังกล่าวและได้ส่งเสริมกิจการฮัจย์ด้วยดีตลอดมาเพื่อแสดงถึงความแน่วแน่ของรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการฮัจย์รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใด ๆ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในอันที่จะให้ความคุ้มครองผู้ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีหลักประกันในการเดินทาง โดยมีกรมการปกครองทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย

               แผนแม่บทสารสนเทศกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) จัดทำขึ้นอย่างสอดคล้องกับกรอบนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) และแผนยุทธศาสตร์กองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และจัดให้มีแผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อรองรับแผนแม่บทสารสนเทศ อีกทั้งเป็นกรอบนโยบายในการดำเนินงานของกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในด้านเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นระบบ และครอบคลุมการทำงานในทุกด้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้แสวงบุญชาวไทยต่อไป

 

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

1. กรอบนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

                นโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ใช้กรอบแนวทางตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย
แผนยุทธศาสตร์กรมการปกครอง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

          โดยสำนักงานกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้กับการวางแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาบุคลากร การจัดการความเสี่ยง การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ
เพื่อการตัดสินใจ (MIS) การประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. วิสัยทัศน์ด้านสารสนเทศ

        “ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่อสนับสนุนให้ผู้แสวงบุญชาวไทยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ด้วยความสะดวกปลอดภัย มีหลักประกัน และสมบูรณ์ตามหลักศาสนา”

ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์หลักของกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

“เป็นกองทุนหลัก ที่สนับสนุนให้ผู้แสวงบุญชาวไทยได้รับความสะดวกในการไปประกอบพิธีฮัจย์”

3. พันธกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

                   3.1 สร้างกลไกการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลของกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ตามแนวทางมาตรฐานสากล

                   3.2 บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้เพียงพอ ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

                  3.3 พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูลที่สามารถสนับสนุนภารกิจขององค์กรได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

                  3.4 เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศด้านการส่งเสริมกิจการฮัจย์ที่เป็นมาตรฐานแบบบูรณาการ และสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทั้งองค์กรอย่างยั่งยืน

                  3.5 เพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศและการบริการข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็วแก่ผู้รับบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย

                  3.6 พัฒนาบุคลากรทุกระดับ ให้มีขีดสมรรถนะและทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

                             ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

                             “1. ส่งเสริมการบริหารและจัดการกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

                               2. พัฒนาระบบการยืมเงินสำรองจ่ายค่าเช่าที่พักสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์”

 

4. ยุทธศาสตร์ดิจิทัลกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565)

     ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มสมรรถนะบุคลากรในด้านเทคโนโลยี

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มสมรรถนะของระบบสารสนเทศที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลของกองทุนแก่บุคคลภายนอก

 

นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

              ในปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศโดยมุ่งหวังให้หน่วยงานทุกระดับมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับทิศทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบราชการมากขึ้นตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) อันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริการประชาชน ด้วยเหตุนี้ทุกหน่วยงานรวมถึงกองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ จึงต้องทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในด้านดังกล่าว ตลอดจนมีการทบทวนและปรับปรุงแผนทุกปี
เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลและโลก ซึ่งแผนแม่บทสารสนเทศกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ได้จัดทำขึ้นโดยสัมพันธ์กับแผนและยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. นโยบายประเทศไทย ๔.๐ (Thailand 4.0)

ประเทศไทย ๔.๐ หรือ Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการยกระดับเศรษฐกิจ
ของไทยให้ดีขึ้นด้วยการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ประเทศไทยมั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน  ฉะนั้นระบบราชการที่เปรียบได้กับเสาหลักในการพัฒนาประเทศจึงต้องเร่งปฏิรูปให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวในการขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน เป็นที่ประทับใจของประชาชนในฐานะผู้รับบริการ

 

2. แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2559-2578

           รัฐบาลไทยโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการผลักดันให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความคิดในทุกภาคส่วน การปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการ การปรับปรุง ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อันจะนำไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทยตาม นโยบายของรัฐบาลในท้ายที่สุด

3. แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔

          แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล งานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย และงานในระดับพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาอย่างมั่นคงและสมดุล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

 

4. แผนยุทธศาสตร์กรมการปกครองประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔

           โดยการนำนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และยุทธศาสตร์ทุกระดับที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับภารกิจของกรมการปกครองมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ตลอดจนการรวบรวมความคิดเห็นจากบุคลากรผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้การปฏิบัติงานของกรมการปกครอง สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยและยุทธศาสตร์ระดับชาติ นำไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด

 

บทวิเคราะห์ด้านดิจิทัล

1. บทวิเคราะห์ SWOT Analysis

        การจัดทำบทวิเคราะห์ในงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (SWOT Analysis) มีขึ้นเพื่อค้นหากลยุทธ์และยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

             จุดแข็ง (strengths)

  1. ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ช่วยปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
  2. มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานด้านสารสนเทศอย่างเพียงพอ
  3. มีระบบดิจิทัลเพื่อรองรับทั้งระดับผู้บริหาร (MIS) ผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการของกองทุนกองทุนฯ ได้พัฒนาระบบดิจิทัลมาโดยตลอด เช่นการรับและจ่ายเงินต้องดำเนินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งความประสงค์ในการยืมเงินผ่านระบบออนไลน์

             จุดอ่อน (weakness)

      1. การจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการดำเนินงานของบุคลากรภายในและ เพื่อการอำนวยความสะดวกในการให้บริการยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร

     2. บุคลากรภายในสำนักงานกองทุนฯขาดความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น ด้านการจัดการฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ 

            โอกาส (opportunities)

  1. มีนโยบายแห่งรัฐเป็นแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกองทุนฯ 
  2. มี พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านดิจิทัลของกองทุน
  3. ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมีข้อกำหนดให้การรับและจ่ายเงินต้องดำเนินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
  4. กรมการปกครองในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบกองทุนมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่เสมอ ทำให้เห็นถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในงานที่เกี่ยวข้อง
  5. มีการจัดอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยหน่วยงานภายนอกเป็นประจำทุกปี ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีความจำเป็นในการพัฒนาและใช้งานระบบดิจิทัลต่าง ๆ มากขึ้น

             อุปสรรค (threats)

         1. ในปัจจุบันมีการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้บางครั้งบุคลากรของกองทุนไม่สามารถที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีที่จำเป็นได้ทันการณ์

         2.ระบบสารสนเทศยังขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นเอกภาพ เนื่องจากกองทุนฯมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและหลายระบบสารสนเทศ

 

2. การวิเคราะห์ SWOT ด้วย TOWS Matrix

           ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ SWOT สามารถนำมาพิจารณาร่วมกันเพื่อกำหนดกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ได้ 4 ด้าน โดย

- การนำจุดแข็งขององค์กรมาสร้างโอกาส (SO) นำไปสู่กลยุทธ์เชิงรุก

- การนำจุดแข็งขององค์กรมาป้องกันอุปสรรค (ST) นำไปสู่กลยุทธ์เชิงป้องกัน

- การนำโอกาสมากำจัดจุดอ่อนขององค์กร (WO) นำไปสู่กลยุทธ์เชิงแก้ไข

- การกำจัดจุดอ่อนพร้อมทั้งป้องกันอุปสรรค (WT) นำไปสู่กลยุทธ์เชิงรับ

คู่มือการบริหารความเสี่ยง 2565