อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง

อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง

                   ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รับผิดชอบและมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจราชการเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเฉพาะในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกรมในฐานะผู้สอดส่องดูแลแทนอธิบดี ตามระเบียบกระทรวงหาดไทยว่าด้วยการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้ 

                  ๑.  ตรวจ แนะนำ ชี้แจงนโยบายและการปฏิบัติงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ ติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ  ปัญหาอุปสรรค รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพงานและการปฏิบัติงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ 

                   ๒.  สั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้รับการตรวจปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติงานใดๆ
ในระหว่างการตรวจราชการไว้ก่อน  หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือประโยชน์ ของประชาชนอย่างร้ายแรง

                   ๓.  สั่งในหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ถ้อยคำ ส่งเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพื่อประกอบการพิจารณา

                   ๔.  สอบสวนข้อเท็จจริง สืบสวน สอบสวนหรือสดับตรับฟังเหตุการณ์เมื่อได้รับคำสั่ง คำร้องเรียน

                   ๕.  ตรวจเยี่ยม สดับตรับฟังทุกข์สุข และความคิดเห็น ตลอดจนให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจ  เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประมวลผลการดำเนินงานเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารงาน

                   ๖.  ประมวล วิเคราะห์ ประเมินผล และเสนอแนะต่ออธิบดีกรมการปกครอง เพื่อทราบ พิจารณา หรือวินิจฉัยสั่งการ

                   ๗.  สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง สอบสวนทางวินัย ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

                   ๘.  เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมการปกครองในการพิจารณาความดีความชอบ หรือพิจารณาโทษทางวินัย ตลอดจนข้อมูลบุคคลของข้าราชการระดับ ๘ ขึ้นไป สังกัดการบริหารส่วนภูมิภาคในเขตตรวจราชการที่รับผิดชอบ เพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

                   ๙.  ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

 

ผู้รับการตรวจมีหน้าที่ดังนี้

  1. อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือแก่ผู้ตรวจราชการกรม

                   ๒.  จัดเตรียมบุคคล เอกสาร หลักฐานในการปฏิบัติงานให้ครบถ้วนและพร้อมที่จะให้ผู้ตรวจราชการกรมตรวจสอบได้

                   ๓.  ชี้แจงและตอบข้อซักถามต่าง ๆ พร้อมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่ผู้ตรวจราชการกรม

                   ๔.  ดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ในการตรวจราชการ

                   ๕.  ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติงานใดๆ ที่ผู้ตรวจราชการกรมได้สั่งการในระหว่างการตรวจราชการไว้ก่อน หากไม่สามารถดำเนินการตามที่ผู้ตรวจราชการกรมได้สั่งการให้ชี้แจงข้อขัดข้องพร้อมเหตุผล ให้ผู้ตรวจราชการกรมทราบด้วย