บทบาทนายอำเภอในการขับเคลื่อนงานสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้าง ความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

14 กรกฎาคม 2564


15 กรกฎาคม 2564

การศึกษาเรื่อง : บทบาทนายอำเภอในการขับเคลื่อนงานสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : การศึกษาสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะในการพัฒนางาน

         การศึกษาบทบาทนายอำเภอในการขับเคลื่อนงานสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : การศึกษาสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะในการพัฒนางาน มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ศึกษา และประมวลแนวทางและบทบาทของนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการที่สอง ศึกษา และวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีนัยสำคัญต่อบทบาทของนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประการสุดท้าย จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาบทบาทของนายอำเภอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้                                                                                                     

         ผู้ศึกษาดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยดำเนินระเบียบวิธีการศึกษาแบบผสานวิธี (Mixed Methodology) ประกอบด้วยการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Documentary Research) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลการศึกษาแบบทุติยภูมิ และการสัมภาษณ์เชิงลึก(In-dept Interview) กับกลุ่มตัวอย่างจากกลุ่มประชากรที่กำหนด ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลการศึกษาแบบปฐมภูมิ รวมทั้งสิ้น 21 คน ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่โดยตรง ได้แก่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่ายทะเบียนและบัตรรวม 8 คน กลุ่มที่ 2 ประชาชนผู้ได้รับการอนุมัติสัญชาติในพื้นที่ จำนวน 4 คน และกลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักบริหารทางทะเบียน ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้นำศาสนาอิสลาม รวม 9 คน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย         

        1. ศึกษา และประมวลแนวทางและบทบาทของนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

        2. ศึกษา และวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีนัยสำคัญต่อบทบาทของนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

        3. จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาบทบาทของนายอำเภอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการศึกษาสรุปตามวัตถุประสงค์การศึกษา จำนวน 3 ประเด็น ดังนี้                           

1. บทบาทของนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำแนกได้เป็น 3 บทบาท ดังนี้

     (1) ตัวแทนกรมการปกครอง (Functional Approach) มีหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย ภารกิจ และโครงการสำคัญของกรมการปกครอง (10 Flagships to DOPA New Normal 2021) โครงการสำคัญที่ 5 “สัญชาติและสถานะบุคคล” นายอำเภอมีฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการอนุมัติให้สัญชาติตามกฎหมายสัญชาติ

     (2) บทบาทตัวแทนรัฐบาล (Agenda Approach) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล และแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

     (3) บทบาทผู้บริหารจัดการพื้นที่ (Area Approach) บูรณาการฝ่ายปกครอง ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการเข้าถึงก ลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)   ทั้งนี้ กรมการปกครองได้มีโครงการที่เป็นรูปธรรม และเป็นจุดเกาะเกี่ยวร่วมคือโครงการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์สัญชาติตามหลักสายโลหิต 

2. ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ ต่อบทบาทของนายอำเภอในการแก้ไขปัญหา จำแนกได้เป็น 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

     (1) ประชาชนผู้ร้อง ซึ่งมีหลายสาเหตุ อาทิ  ไม่มีความรู้ระเบียบกฎหมายของประชาชน  ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีคุณสมบัติเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด และการที่ประชาชนในพื้นที่นิยมศึกษาหลักการศาสนาอิสลามในโรงเรียนตาดีกา และสถานศึกษาปอเนาะ ทำให้ขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์สังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย และขาดการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับจากภาคราชการ ทำให้ไม่รับรู้ข่าวสารข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนเอง

     (2) เจ้าหน้าที่หรือปลัดอำเภอผู้ปฏิบัติงานสัญชาติ ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญส่งผลให้ไม่กล้าดำเนินการงานสัญชาติเนื่องจากเกรงกลัวความผิดหากปฏิบัติงานผิดพลาด การสับเปลี่ยน โยกย้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบ่อยครั้งทำให้ขาดการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง การบันทึกข้อมูลสำคัญผิดพลาด ซ้ำซ้อน ไม่ครบถ้วน ส่งผลให้เกิดปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติของบุคคลผู้ยื่นคำร้อง               

     (3) งบประมาณ มีความขาดแคลนเนื่องจากได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างจำกัด ในขณะที่ต้องจัดสรรให้สำนักทะเบียนอำเภอทั่วประเทศ 878 แห่ง ไม่สามารถนำงบประมาณทั้งหมดมาใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

     (4) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งพบการระบาดในทุกพื้นที่ ทำให้มีการจำกัดการเดินทาง รวมถึงนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ขาดแคลนบุคลากร และทรัพยากรในการดำเนินงานสัญชาติและสถานะบุคคล         

3. ข้อเสนอแนะการพัฒนาบทบาทของนายอำเภอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ศึกษาขอให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติและเชิงนโยบายภายใต้กรอบการบริหาร “งาน-งบ-ระบบ-คน” ดังนี้

          3.1 ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติสำหรับนายอำเภอ

         งาน : จำนวน 4 ประการ ได้แก่

                   (1) น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในองค์รวม มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่

                   (2) การสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้นำทางศาสนา ในการช่วยเผยแพร่และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่

                   (3) ดำเนินการเชิงรุก (Proactiveness) บูรณาการความร่วมมือร่วมระหว่าง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) กับ ภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ จัดชุดปฏิบัติการประจำตำบลลงพื้นที่สนับสนุนการรับคำร้องในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลและมีกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก

                   (4) ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเชิญกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติและบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเชิงพัฒนาในพื้นที่ตามแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

          งบ : จำนวน 2 ประการ ได้แก่

                   (1) พิจารณาใช้งบประมาณของกรมการปกครอง โครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ หรือ “งบบูรณาการอำเภอ” ซึ่งเป็นงบประมาณหลักของนายอำเภอในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเร่งด่วนของประชาชนในส่วนที่ไม่ได้รับงบประมาณ (เฉลี่ยอำเภอละ 1 ล้านบาทต่อปี)

                   (2) นายอำเภอสามารถบูรณาการงบบูรณาการจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจุบันศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินกิจกรรมตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในประเทศมาเลเซีย ถือเป็นโครงการและงบประมาณที่เข้ามาเติมเต็มการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ระบบ : จำนวน 3 ประการ ได้แก่

                      (1) ให้ความสำคัญกับระบบและขั้นตอนดำเนินงานสัญชาติและสถานะบุคคลตามระเบียบกฎหมายเท่าที่จำเป็น ลดขั้นตอนที่เกิดความจำเป็นและเป็นภาระกับประชาชนผู้ร้องมากเกินไป

                      (2) ส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครอง “อำเภอสะดวก อำเภอ..วิถีใหม่” พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนทั้งในและนอกสถานที่ตั้ง                  

                      (3) ส่งเสริมการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) พิสูจน์สัญชาติทางสายโลหิต ซึ่งถือเป็นกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบัน ลดดุลยพินิจของนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการวางระบบอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปตรวจของประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ 

          คน : จำนวน 3 ประการ ได้แก่

                   (1) มอบหมายปลัดอำเภอรับผิดชอบงานสัญชาติและสถานะบุคคลเป็นการเฉพาะ ทำให้สามารถดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ และการดำเนินงานมีความต่อเนื่อง 

                   (2) ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยสนับสนุนให้ปลัดอำเภอผู้ปฏิบัติงานสัญชาติเข้ารับการอบรมของสำนักบริหารการทะเบียนซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี รวมถึงการค้นคว้าเข้าถึงข้อมูลและความรู้ทางออนไลน์

                   (3) ส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในการช่วยเหลือประชาชนในการรวบรวมเอกสารหลักฐาน เป็นพยานบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือประกอบการพิจารณาในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และเป็นเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในพื้นที่

            3.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับผู้บริหารกรมการปกครอง และสำนักบริหารการทะเบียน 

            งาน : จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่

                      (1) ขับเคลื่อนและบูรณาการโครงการสำคัญของกรมการปกครอง (10 Flagships to DOPA New Normal 2021) เพื่อการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่ 5 “สัญชาติและสถานะบุคคล” โครงการสำคัญที่ 6 “อำเภอสะดวก อำเภอ..วิถีใหม่” และโครงการสำคัญที่ 9 : “อำเภอมั่นคง สีขาว ปลอดยาเสพติด” ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ส่งเสริมความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security) และการพัฒนาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind)                

                      (2) ใช้กลไกคณะทำงานตามโครงการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการปกครองด้านสัญชาติและสถานะบุคคลในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยมีรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนสัญชาติและการทะเบียนและบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นคณะทำงานและเลขานุการ ซึ่งถือเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานสัญชาติและสถานะบุคคล

                      (3) บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือกับทุกส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน                                                            

              งบ : จำนวน 2 ประการ ได้แก่

                      (1) พิจารณาเพิ่มคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในลักษณะของงบประมาณประจำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอำนวยการบริหารจัดการสำหรับนายอำเภอให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในพื้นที่

                      (2) เสนอคำของบประมาณในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้บรรจุในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกรมการปกครอง และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต่างดำเนินโครงการโดยใช้งบประมาณของตนเอง หากสามารถบูรณาการการดำเนินงานให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และตั้งงบประมาณร่วมกันในแผนงานบูรณาการ ผู้ศึกษามีความเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง          

             ระบบ : จำนวน 6 ประการ ได้แก่

                         (1) ระบบการยื่นเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการขอสัญชาติไทยผ่านระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจองคิวแบบออนไลน์

                         (2) ระบบการตรวจสอบสถานะของคำร้องว่าอยู่ในขั้นตอนใด เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง

                         (3) ระบบการแจ้งเตือนผ่านข้อความ SMS หรืออีเมล์  

                         (4) พัฒนาช่องทางการติดต่อสอบถามของส่วนกลาง เช่น คลินิกกฎหมายสัญชาติทาง https://www.bora.dopa.go.th/nationclinic และระบบ Call Center 1548 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการขอสัญชาติ รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนในเบื้องต้น

                         (5) พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เพื่อป้องกันเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยละเมิด การใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด และป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงานสัญชาติและสถานะบุคคล

                         (6) ส่งเสริมบทบาทของสำนักบริหารการทะเบียนในฐานะหน่วยงานส่วนกลางที่อำนวยการและสนับสนุนการปฏิบัติของนายอำเภอ โดยวางระบบการออกตรวจนิเทศงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและ ความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาวางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล สนับสนุนทรัพยากรทางการบริหารให้แก่นายอำเภอเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลสัมฤทธิ์                            

             คน : จำนวน 4 ประการ ได้แก่ 

                     (1) พิจารณาจัดสรรอัตรากำลังให้เหมาะสมกับปริมาณงาน และมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการดำเนินงานสัญชาติและสถานะบุคคล

                     (2) ควรมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับงานสัญชาติและสถานะบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการปฏิบัติในระดับพื้นที่ และทันสมัยอยู่เสมอ

                     (3) กำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพในสายงานทะเบียนและสัญชาติ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางงานวิชาการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

                     (4) กำหนดมาตรการลงโทษทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย ที่เด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกัน และป้องปรามการเรียกรับผลประโยชน์ ทุจริตประพฤติมิชอบเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร งานสัญชาติและสถานะบุคคล