ภาพสไลด์กิจกรรม


กรมการปกครอง รับมอบนโยบายจัดทำงบปี 67 จากนายกฯ

4 ตุลาคม 2566

กรมการปกครอง รับมอบนโยบายจัดทำงบปี 67 จากนายกฯ มุ่งสร้างรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 - 12.30 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ร้อยตำรวจโทภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วย นางวจิราพร อมาตยกุล ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน นายอารัทธ์ มานิชพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนงบประมาณ และเจ้าหน้าที่กองวิชาการและแผนงาน ร่วมการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน ดังนี้

1. นโยบายสำคัญของรัฐบาล จำแนกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย

1.1 นโยบายระยะสั้น 3 มิติ ได้แก่ ฟื้นฟูรายได้ ลดรายจ่าย เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

1) ฟื้นฟูรายได้ : กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ภายใน ก.พ. 67 / ฟื้นฟูการท่องเที่ยว

2) ลดรายจ่าย : โดยลดราคาพลังงาน

3) เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ : ทำประชามติ และร่างฉบับใหม่

1.2 นโยบายระยะยาว 3 มิติ ได้แก่ มุ่งสร้างรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง

1) มุ่งสร้างรายได้ : เกษตรมูลค่าสูง/แม่นยำ ภาคการผลิต อุตสาหกรรม ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เขตการค้าเสรี

2) ขยายโอกาส : พลังงานสะอาด สิทธิที่ดินทำกิน การศึกษา Soft Power ท่องเที่ยวตลอดปี ไม่มี Low Season

3) ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง : บริหารจัดการกำลังพล ปราบปรามยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล เตรียมรับภัยธรรมชาติ ระบบสาธารณสุข สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และพัฒนาระบบราชการด้วยเทคโนโลยี

2. รัฐบาลจะมีงบประมาณสำหรับจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี พ.ศ. 2567 เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3.48 ล้านล้านบาท โดยขอให้หน่วยงานจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ. 2567 ตาม "กรอบ 5 ทำ" ดังนี้

2.1 ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน : เน้นย้ำให้หน่วยงานของรัฐจัดทำคำของบประมาณและเบิกจ่ายโดยยึดถือเอานโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาและคำนึงถึงกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

2.2 ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน : ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินงานร่วมกันในลักษณะการบูรณาการ แต่ไม่ให้มีการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกัน

2.3 ทำอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาวินัยการเงินการคลัง : จัดทำคำของบประมาณโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นสำคัญ ต้องสอดคล้องสถานการณ์ความจำเป็นเร่งด่วน และสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ขอให้ยึดหลักการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน พร้อมนำเอาระบบDigitalเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน

2.4 ทำอย่างมีตัวชี้วัดและมีเป้าหมาย : ให้กำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายในการดำเนินงานในทุกระดับ เพื่อให้เกิดผลดีกับประชาชนและต้องมีความชัดเจน ทั้งนี้ รัฐบาลไม่สนับสนุนการทำงานโดยไม่เกิดประสิทธิผลกับประชาชน เพราะเป็นการทำให้ภาษีของพี่น้องประชาชนเสียเปล่า

2.5 ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน : ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนงานและงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงินทุน ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ให้พิจารณาใช้แหล่งเงินอื่นๆ ก่อนเงินงบประมาณ โดยเฉพาะการร่วมมือกับภาคเอกชนและการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ถึงแม้ว่างบประมาณปี พ.ศ. 2567 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาเร่งเบิกจ่ายภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่าให้เศรษฐกิจของประเทศสะดุด และขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ใช้เงินภาษีให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างสูงที่สุด"