ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเลือกกำนัน พ.ศ. 2524

เข้าชม 7481 ครั้ง

1 ธันวาคม 2563

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยการเลือกกำนัน
พ.ศ. 2524
--------------

                       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศํกราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 364 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 กระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดระเบียบ ว่าด้วยการเลือกกำนันไว้ดังต่อไปนี้

                       ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเลือกกำนัน พ.ศ. 2524”

                       ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                       ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2515

                       ข้อ 4 ในระเบียบนี้
                       “หน่วยเลือกกำนัน” หมายความว่า ท้องถิ่นที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกกำนัน
                       “ที่เลือกกำนัน” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกกำนัน

                       ข้อ 5 ในการเลือกกำนัน ให้นายอำเภอประกาศรับสมัครผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นตามแบบ ก.น. 1 และให้ผู้ใหญ่บ้านที่จะสมัครเป็นกำนันให้ยื่นใบสมัครตามแบบ ก.น. 4 ท้ายระเบียบนี้ แล้วให้ทำการเลือกกำนันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่นายอำเภอได้ทราบว่าตำแหน่งกำนันว่างลง
                       ก่อนที่จะประกาศรับสมัครเลือกกำนัน หากปรากฏว่าในตำบลนั้น หมู่บ้านใดยังมิได้เลือก ผู้ใหญ่บ้านแทนตำแหน่งที่ว่าง ก็ให้ดำเนินการเลือกผู้ใหญ่บ้านนั้นเสียก่อน เว้นแต่จะมีเหตุที่ไม่สามารถ เลือกผู้ใหญ่บ้านแทนตำแหน่งที่ว่างได้
                       เมื่อนายอำเภอได้ประกาศรับสมัครเลือกกำนันแล้ว หากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านว่างลง ให้ ดำเนินการเลือกกำนันต่อไปโดยไม่ต้องเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านที่ว่างนั้น และให้นายอำเภอจัดทำบัญชี รายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นกำนันตามแบบ ก.น. 5 ท้ายระเบียบนี้
                       เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับสมัครแล้ว ถ้ามีผู้ใหญ่บ้านสมัครเพียงคนเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกเป็นกำนัน และให้ประกาศผลการเลือกตามแบบ ก.น. 10 ท้ายระเบียบนี้

                       ข้อ 6 ให้นายอำเภอกำหนดหน่วยเลือกกำนันในตำบลนั้นโดยถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือก หน่วยละไม่เกินหนึ่งพันคน
                       ถ้าตำบลใดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกเกินหนึ่งพันคน ให้กำหนดหน่วยเลือกกำนันในตำบลนั้นเพิ่มขึ้น เว้นแต่การแยกเป็นอีกหน่วยหนึ่งจะไม่สะดวกแก่การไปลงคะแนน ในกรณีที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกเกินหนึ่งพันคนแต่ไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยคน นายอำเภอจะรวมเป็นหน่วยเลือกกำนันหน่วยเดียวกันก็ได้ 
                       ถ้านายอำเภอเห็นว่าในตำบลนั้นการคมนาคมไม่สะดวก จะกำหนดหน่วยเลือกกำนันโดยไม่ คำนึงถึงจำนวนผู้มีสิทธิเลือกก็ได้
                       เมื่อได้กำหนดหน่วยเลือกกำนันแล้ว ให้ประกาศหน่วยเลือกกำนันตามแบบ ก.น. 3 ท้ายระเบียบนี้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ และตำบลที่มีการเลือก
                       การเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกกำนัน จะต้องทำก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

                       ข้อ 7 การเลือกกำนัน ให้กระทำโดยวิธีลับ โดยมีนายอำเภอหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการเลือก และให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกประจำทุกหน่วยเลือกกำนันเพื่อดำเนินการเลือก และให้เชิญกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านตำบลอื่นในเขตอำเภอนั้นอย่างน้อยสองคนเป็นพยานรู้เห็นในการลงคะแนนและตรวจนับคะแนน
                       เวลาเลือกกำนัน ให้เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 15.00 นาฬิกา

                       ข้อ 8 ให้นายอำเภอกำหนดที่เลือกกำนันซึ่งเป็นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียนหรือศาลาวัด ถ้าหาสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ จะกำหนดบ้านหรือสถานที่อื่นซึ่งประชาชนไม่รังเกียจหรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกเป็นกำนันคนหนึ่งคนใดในการเลือกนั้นเป็นที่เลือกกำนันก็ได้

                       ข้อ 9 ก่อนเวลาเลือกกำนันให้นายอำเภอหรือผู้ได้รับมอบหมายประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือก ซึ่งอยู่ในที่เลือกกำนันเสนอบุคคลผู้มีสิทธิเลือกซึ่งอยู่ในที่เลือกกำนันและเป็นที่เคารพเชื่อถือของราษฎร ในตำบลนั้นอย่างน้อยสองคนเป็นผู้แทน เพื่อดูแลการดำเนินการเลือกอย่างใกล้ชิด แต่ผู้นั้นจะต้องมิใช่ ผู้สมัครเข้ารับการเลือกเป็นกำนัน
                       ผู้แทนตามวรรคหนึ่งมีสิทธิทักท้วงการปฏิบัติของคณะกรรมการเลือกได้ เมื่อเห็นว่าปฏิบัติ มิชอบแต่ห้ามกล่าวโต้เถียงระหว่างกันเอง

                       ข้อ 10 เมื่อมีการทักท้วงการปฏิบัติของคณะกรรมการตามข้อ 9 ให้คณะกรรมการพิจารณา และชี้ขาดแล้วบันทึกไว้ และให้ผู้ทักท้วงและคณะกรรมการเลือกทุกคนลงลายมือชื่อไว้ ถ้าผู้ทักท้วงไม่ยอมลงลายมือชื่อให้คณะกรรมการบันทึกไว้

                       ข้อ 11 ให้นายอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกกำนัน เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเลือกกำนันตามแบบ ก.น. 2 ท้ายระเบียบนี้จำนวนหน่วยละสี่ชุด ชุดที่ 1 ให้ปิดประกาศไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ชุดที่ 2 ให้ปิดไว้ที่ที่เลือกกำนัน ชุดที่ 3 และชุดที่ 4 มอบให้คณะกรรมการเลือกกำนันนำไปใช้ในวันเลือก 1 ชุด และสำรองไว้ติดที่ที่เลือกกำนัน 1 ชุด
                       การปิดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตามชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ต้องปิดประกาศก่อนวันทำการเลือกไม่น้อยกว่าสิบวัน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกได้ตรวจสอบและขอแก้ไขเพิ่มเติมถูกต้องก่อนทำการเลือกไม่น้อยกว่าสามวัน

                       ข้อ 12 บัตรเลือกให้ใช้กระดาษสีขาว ขนาดกว้าง ยาว ตามความจำเป็น เมื่อพับแล้วมีขนาดพอสมควร ด้านหน้ามีตราครุฑ กับมีข้อความว่า “ บัตรเลือกกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ” และมีตราประจำตำแหน่งนายอำเภอท้องที่ หรือเครื่องหมายอื่นของนายอำเภอท้องที่ประทับ พร้อมกับมีหมายเลขเรียงลำดับต่อท้ายข้อความ “ บัตรเลขที่….. ”
                       ด้านในของบัตรตอนบนมีข้อความ “ ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (เช่น 7) เพียงเลขหมายเดียวใน “ ช่องทำเครื่องหมาย ” นี้ ”
                       ต่อลงไปให้แบ่งออกเป็นสองช่อง ช่องที่หนึ่งมีข้อความว่า “ เครื่องหมายประจำตัว ” ช่องที่สองมีข้อความว่า “ ช่องทำเครื่องหมาย ”
                       ถัดลงไปให้แบ่งออกเป็นสามช่อง ช่องที่หนึ่งมีจุดเครื่องหมายบนพื้นที่ขาวเรียงลำดับลงไป ช่องที่สองมีเลขเครื่องหมายบนพื้นสีขาว เรียงลำดับลงไปตรงกับจำนวนจุด ช่องที่สามปล่อยว่างไว้สำหรับทำเครื่องหมาย มีเส้นคั่นระหว่างเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัคร
                       โดยปกติจำนวนเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครแถวแรกให้มีไม่เกินยี่สิบเครื่องหมาย ในกรณี จำเป็นต้องมีเกินยี่สิบเครื่องหมาย ให้เพิ่มเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครแถวต่อ ๆ ไป ทางขวามือของบัตร แต่เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครที่เพิ่มแถวหนึ่ง ๆ จะมีได้ไม่เกินสามสิบเครื่องหมาย
                       ทั้งนี้ ตามตัวอย่างบัตรเลือกกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ท้ายระเบียบนี้ ยกเว้นในกรณีที่นำบัตร เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาเทศบาล หรือสมาชิกสภาจังหวัดมาใช้ในการเลือกกำนัน ให้กระทำได้โดยเพิ่มข้อความ “ บัตรเลือกกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ” ใต้ข้อความของบัตรเลือกนั้น ๆ

                       ข้อ 13 เมื่อผู้มีสิทธิเลือกกำนันได้รับบัตรเลือกแล้วให้ไปยังคูหาลงคะแนนที่ว่างคราวละหนึ่งคนเพื่อลงคะแนน การลงคะแนนเลือกให้ผู้มีสิทธิเลือกทำเครื่องหมายกากบาท (เช่น X) ด้วยปากกาหรือ ดินสอในช่องทำเครื่องหมายให้ตรงกับเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครที่ตนต้องการเลือกลงในบัตรเลือก ด้านในและให้ทำเครื่องหมายเพียงหนึ่งเครื่องหมายแล้วพับบัตรเลือกนั้น ทั้งนี้ ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควร แล้วนำบัตรนั้นไปมอบแก่กรรมการใส่หีบบัตรต่อหน้าตน แล้วออกไปจากที่เลือกกำนัน

                       ข้อ 14 ถ้าผู้เลือกไม่สามารถลงคะแนนเลือกได้ เพราะบัตรเลือกบกพร่องหรือชำรุดให้รีบส่งบัตรเลือกนั้นคืนแก่กรรมการ แล้วให้กรรมการจัดบัตรเลือกให้แก่ผู้นั้นใหม่

                       ข้อ 15 หีบบัตรเลือกและคูหาสำหรับลงคะแนน ให้ใช้หีบบัตรและคูหาลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาจังหวัด โดยอนุโลม

                       ข้อ 16 การตรวจนับคะแนนให้กรรมการกรอกคะแนนตามแบบ ก.น. 6 ท้ายระเบียบนี้ ถ้าปรากฏว่า มีบัตรเลือกเกินกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง คณะกรรมการต้องจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ แต่ถ้าจำนวนบัตรออกเสียงเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงให้ถือว่าการเลือกนั้นสมบูรณ์ 
                       ให้กรรมการประกาศชี้แจงให้ผู้มีสิทธิเลือก ซึ่งอยู่ในที่เลือกกำนันทราบเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งก่อนการตรวจนับคะแนน

                       ข้อ 17 บัตรเลือกตั้งต่อไปนี้ถือว่าเป็นบัตรเสีย คือ
                                 (1) บัตรปลอม
                                 (2) บัตรที่ทำเครื่องหมายเกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย
                                 (3) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมาย
                                 (4) บัตรที่ปรากฏว่า ได้พับซ้อนกันมากกว่าหนึ่งบัตร
                                 (5) บัตรที่มีเครื่องสังเกต หรือข้อความอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
                                 (6) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนใด
                       บัตรดังกล่าวให้ประธานกรรมการเลือกสลักว่า “ เสีย ” และให้กรรมการคนหนึ่งลงลายมือชื่อกำกับไว้ การสลักบัตรเสียให้สลักด้านหน้าตรงใต้ตราครุฑ

                       ข้อ 18 ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกเป็นกำนันมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก ก่อนจะให้จับสลากให้นายอำเภอหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายดำเนินการให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันตกลงกันเสียก่อนว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากก่อนหลัง แล้วให้จัดทำบัตรสลากขนาดกว้างยาวเท่ากันมีจำนวนเท่ากับจำนวนผู้ได้รับคะแนนเท่ากันโดยเขียนข้อความว่า “ ได้รับเลือกเป็นกำนัน ” เพียงบัตรเดียวนอกนั้นเขียนข้อความว่า “ ไม่ได้รับเลือกเป็นกำนัน ” และให้คณะกรรมการลงชื่อกำกับทุกบัตรสลาก

                       ข้อ 19 ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนแสดงหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                                  (1) บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรใหม่ (บ.ป.2)
                                  (2) บัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานเทศบาล หรือพนักงานสุขาภิบาล
                                  (3) บัตรสมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือกรรมการสุขาภิบาล
                                  (4) บัตรประจำตัวทหารกองประจำการ หรือตำรวจกองประจำการ
                                  (5) บัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ
                                  (6) บัตรประจำตัวกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน หรือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
                                  (7) บัตรประจำตัวกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือ
                                  (8) ผู้เลือกซึ่งไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายและไม่อาจมีบัตรตาม (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ต้องใช้หลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้แทนได้
                       เมื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนได้แสดงหลักฐานดังกล่าว และกรรมการเห็นว่าเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดังๆ  ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิลงคะแนนอื่นทักท้วง ให้หมายเหตุชนิดและหมายเลขของหลักฐานไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนน

                       ข้อ 20 เมื่อเสร็จการเลือกแล้ว ให้จัดทำรายการแสดงผลของการนับคะแนนตามแบบ ก.น. 7 ประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ ก.น. 8 และประกาศผลการเลือกกำนันตามแบบ ก.น.9 ท้ายระเบียบนี้โดยประกาศผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยตามแบบ ก.น. 8 ปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกกำนันและปิดประกาศ ผลการเลือกกำนันตามแบบ ก.น. 9 ณ ที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอให้ราษฎรได้ทราบโดยทั่วกัน
                       บันทึกการเลือกและหลักฐานต่าง ๆ ให้เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ เพื่อเป็นหลักฐานการเลือก แล้วรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยสำเนาหลักฐานการเลือกกำนัน เพื่อพิจารณาออกหนังสือสำคัญให้ต่อไป

                                                                                 ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524

                                                                                                  บัญญัติ บรรทัดฐาน
                                                                                              (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน)
                                                                                   รัฐมนตรีช่วยว่าการ รักษาราชการแทน
                                                                                      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย