ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน พ.ศ. ๒๕๕๑

เข้าชม 57104 ครั้ง

1 ธันวาคม 2563

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย

ว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน

พ.ศ. ๒๕๕๑

    ----------------

โดยที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนัน พ.ศ. ๒๕๒๔ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงระเบียบดังกล่าวให้สอดคล้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน พ.ศ. ๒๕๕๑”

 

ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓  ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนัน พ.ศ. ๒๕๒๔

บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

 

ข้อ ๔  ในระเบียบนี้

“ที่คัดเลือกกำนัน” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการคัดเลือกกำนัน

“ผู้มีสิทธิลงคะแนน” หมายความว่า ผู้ใหญ่บ้านในตำบลที่มีการคัดเลือกกำนันซึ่งได้มาประชุม เพื่อคัดเลือกกำนัน และอยู่ในที่ประชุมนั้นขณะถึงเวลาลงคะแนน ณ ที่คัดเลือกนั้น”

 

ข้อ ๕  การปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้นายอำเภออาจมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่แทนได้

 

ข้อ ๖  ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหา กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

แบบพิมพ์ รูปแบบ และลักษณะของบัตรเลือกให้เป็นไปตามแบบท้ายระเบียบน

 

หมวด ๑

บททั่วไป

                       

 

ข้อ ๗  เมื่อตำแหน่งกำนันว่างลงให้คัดเลือกกำนันขึ้นใหม่ภายในกำหนดเวลาสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้ทราบการว่างนั้น

หากมีความจำเป็นไม่อาจจัดให้มีการคัดเลือกกำนันได้ภายในกำหนดเวลาสี่สิบห้าวันให้นายอำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดขอขยายเวลาออกไปได้เท่าที่จำเป็น

 

ข้อ ๘  การคัดเลือกกำนัน ต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๑) นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนถึงวันคัดเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้ใหญ่บ้านคนใด เสนอชื่อหรืองดเว้นการเสนอชื่อหรือการลงคะแนนให้แก่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใดเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกำนัน หรือมิให้ได้รับการคัดเลือกเป็นกำนัน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

ก. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

ข. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด มัสยิด สุเหร่า ศาลเจ้า โรงเจ โบสถ์คริสต์ โบสถ์พราหมณ์ สำนักปฏิบัติธรรม สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ สหกรณ์ กองทุนสงเคราะห์ ชุมนุม ชมรม สโมสร กลุ่ม องค์กร หรือสถาบันอื่นใดตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภากำหนด

ค. จัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งการแสดง และการละเล่นอื่นๆ

ง. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด รวมถึงการจัดเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง การประชุม อบรม สัมมนา ทัศนศึกษา หรือดูงาน เป็นต้น

จ. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจผู้ใดให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้ใหญ่บ้านรายอื่น

(๒) ในวันคัดเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียง โดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้ใหญ่บ้านคนใดจนสิ้นสุดการคัดเลือก

(๓) นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนสิ้นสุดการคัดเลือก ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการคัดเลือก วางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ห้ามมิให้การกระทำใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใด

(๔) นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนสิ้นสุดการลงคะแนน ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้สมัครคนใด

การกระทำที่ฝ่าฝืนตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) เป็นการคัดเลือกที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

 

ข้อ ๙  ก่อนวันคัดเลือกกำนันตามข้อ ๑๐ (๑) ข. หากปรากฏว่าในตำบลนั้นมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านว่างหรือมีหมู่บ้านที่ประกาศตั้งขึ้นใหม่ ให้ดำเนินการเลือกผู้ใหญ่บ้านนั้นเสียก่อน เว้นแต่จะมีระยะเวลาไม่เพียงพอที่จะดำเนินการเลือกได้หรือมีเหตุที่ไม่สามารถเลือกผู้ใหญ่บ้านนั้นได้ให้ดำเนินการคัดเลือกกำนันต่อไปโดยไม่ต้องรอผลการเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้น

 

หมวด ๒

การดำเนินการของอำเภอ

                       

 

ข้อ ๑๐  การคัดเลือกกำนันให้นายอำเภอดำเนินการดังนี้

(๑) ประกาศกำหนดให้มีการคัดเลือกกำนันภายในสามวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้ทราบการว่าง ตามแบบ กน. ๑ อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังนี้

ก. กำหนดที่คัดเลือกกำนัน

ข. กำหนดวัน และเวลาประชุมคัดเลือกกำนัน โดยให้กำหนดวันคัดเลือกกำนันภายหลังที่ได้ดำเนินการเลือกผู้ใหญ่บ้านที่ว่างอยู่ก่อนหรือว่างอยู่ในวันที่มีประกาศให้มีการคัดเลือกกำนัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้ทราบเหตุนั้น

(๒) ปิดประกาศกำหนดให้มีการประชุมคัดเลือกกำนัน ตามแบบ กน. ๑ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสถานที่ที่นายอำเภอกำหนดให้มีการคัดเลือกกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลที่มีการคัดเลือกกำนันภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายอำเภอทราบเหตุนั้น

(๓) แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันประชุมคัดเลือก

(๔) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกกำนันประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธานผู้ที่นายอำเภอเห็นสมควรเป็นกรรมการ และปลัดอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอ

(๕) จัดประชุมผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น เพื่อปรึกษาหารือคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งขึ้นเป็นกำนันตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในแบบ กน. ๑

(๖) กรณีที่ผู้ใหญ่บ้านได้ถูกเสนอชื่อเพื่อรับการคัดเลือกจากที่ประชุมตาม (๕) มากกว่าหนึ่งคนต้องจัดให้มีการลงคะแนนโดยวิธีลับ

(๗) จัดเตรียมหีบบัตร บัตรเลือก บัญชีรายชื่อผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น แบบพิมพ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในวันคัดเลือก

 

หมวด ๓

ที่คัดเลือกกำนัน

                       

 

ข้อ ๑๑  ให้นายอำเภอกำหนดให้ที่ว่าการอำเภอเป็นสถานที่คัดเลือกกำนัน หากมีความจำเป็นไม่สามารถใช้สถานที่ดังกล่าวได้ จะกำหนดสถานที่อื่นที่มีความสะดวกเหมาะสมเป็นสถานที่คัดเลือกและไม่เป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใดเป็นที่คัดเลือกกำนันก็ได้

 

หมวด ๔

วิธีการคัดเลือก

                       

 

ข้อ ๑๒  ในการประชุมคัดเลือกกำนัน ให้นายอำเภอเป็นประธานในที่ประชุม ปลัดอำเภอเป็นเลขานุการทำหน้าที่รับลงทะเบียนผู้ใหญ่บ้านและกรรมการที่เข้าร่วมประชุม และจัดทำบันทึกรายงานการประชุมคัดเลือกกำนันตามแบบ กน. ๒

ให้นายอำเภอชี้แจงรายละเอียด เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และการรู้รักสามัคคี ตลอดจนการดำรงรักษาความเป็นมิตร เป็นเพื่อนบ้าน และความเป็นญาติพี่น้องในพื้นที่ทั้งก่อนและหลังการคัดเลือกให้ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรที่สนใจติดตามการคัดเลือกกำนันได้รับทราบ

 

ข้อ ๑๓  การประชุมคัดเลือกกำนันต้องเป็นไปโดยเปิดเผยและต้องมีผู้ใหญ่บ้านมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดที่มีอยู่ในตำบลนั้น

กรณีมีความจำเป็นนายอำเภออาจสั่งให้มีการประชุมลับ และวินิจฉัยว่าสมควรจะให้ผู้ใดอยู่ในที่ประชุมลับนั้นก็ได้

ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นคนหนึ่ง มีสิทธิเสนอชื่อผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น หรือเสนอชื่อตนเองเป็นกำนันได้หนึ่งคน

ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเสนอชื่อต้องอยู่ในที่ประชุมและต้องยินยอมให้เสนอชื่อตนได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ให้ทำหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อตนเป็นกำนันพร้อมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมต่อนายอำเภออย่างช้าในวันประชุมคัดเลือก

 

ข้อ ๑๔  กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันเพียงคนเดียว ให้นายอำเภอคัดเลือกผู้นั้นเป็นกำนัน แล้วให้นายอำเภอประกาศผลการคัดเลือกกำนันตามแบบ กน. ๓ โดยปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลนั้น

 

ข้อ ๑๕  กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันมากกว่าหนึ่งคนให้นายอำเภอจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีลับและให้เสร็จสิ้นในวันประชุมคัดเลือก

การลงคะแนนโดยวิธีลับให้ใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม

 

ข้อ ๑๖  กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันมากกว่าหนึ่งคนให้นายอำเภอ ตกลงกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อกำหนดหมายเลขประจำตัว หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ดำเนินการจับสลากสองครั้ง ดังนี้

(๑) การจับสลากครั้งที่หนึ่ง ให้นายอำเภอเขียนชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ต้องจับสลากบนสลากที่เหมือนกันแล้วใส่ในภาชนะให้สลากคละกัน แล้วให้นายอำเภอเป็นผู้จับสลากจากในภาชนะดังกล่าวขึ้นมาทีละหนึ่งใบ ชื่อผู้ใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับแรกให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิจับสลากในครั้งที่สองก่อน ชื่อผู้ใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับต่อไป ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิจับสลากในครั้งที่สองเป็นลำดับถัดไปจนครบทุกคน

(๒) การจับสลากครั้งที่สอง ให้นายอำเภอเขียนหมายเลขหนึ่งจนถึงหมายเลขที่เท่ากับจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อบนสลากที่เหมือนกันแล้วใส่ในภาชนะให้สลากคละกัน แล้วให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อตามลำดับของผลการจับสลากในครั้งที่หนึ่งทำการจับสลากจากในภาชนะดังกล่าว ผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้ใดจับสลากได้หมายเลขใดให้ถือเป็นหมายเลขประจำตัวผู้นั้น

 

ข้อ ๑๗  กรณีที่ไม่มีผู้ใดเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันให้ถือว่าผู้ใหญ่บ้านทุกคนที่มาประชุมได้รับการเสนอชื่อและให้นายอำเภอจัดให้ลงคะแนนโดยวิธีลับ โดยให้ถือว่าลำดับที่ของหมู่บ้านเป็นหมายเลขประจำตัวของผู้ใหญ่บ้าน

กรณีผู้ใหญ่บ้านคนใดไม่ประสงค์จะได้รับการคัดเลือกเป็นกำนัน ให้แจ้งการสละสิทธิต่อนายอำเภอและให้บันทึกเป็นหลักฐานไว้ในรายงานการประชุมตามแบบ กน. ๒

เมื่อถึงเวลาลงคะแนนแล้วผู้ใหญ่บ้านคนใดไม่อยู่ในที่ประชุมนั้น ให้ถือว่าผู้ใหญ่บ้านนั้นสละสิทธิลงคะแนน

 

ข้อ ๑๘  กรณีมีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีลับให้คณะกรรมการคัดเลือกที่นายอำเภอแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) ทำหน้าที่จัดให้ผู้ใหญ่บ้านลงชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ใหญ่บ้าน มอบบัตรเลือกให้ผู้ใหญ่บ้านดูแลคูหาลงคะแนน ดูแลหีบบัตร และดำเนินการในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้การออกเสียงลงคะแนนคัดเลือกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

หมวด ๕

วิธีการลงคะแนน

                       

 

ข้อ ๑๙  การลงคะแนนให้ทำเครื่องหมายกากบาท เช่น x ลงในช่องทำเครื่องหมายหมายเลขผู้ได้รับการเสนอชื่อหรือในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนในบัตรเลือก

 

ข้อ ๒๐  การใช้สิทธิลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ประสงค์จะลงคะแนนแสดงตนต่อกรรมการคัดเลือก

เมื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนได้รับบัตรเลือกแล้วให้ไปยังคูหาลงคะแนนเพื่อทำเครื่องหมายกากบาท เช่น x ลงในบัตรเลือกและพับบัตรเลือกเพื่อไม่ให้ผู้อื่นทราบได้ว่าลงคะแนนให้ผู้ใด แล้วให้นำบัตรเลือกนั้นหย่อนลงในหีบบัตรด้วยตนเองต่อหน้ากรรมการคัดเลือก

ก่อนการลงคะแนนถ้าผู้มีสิทธิลงคะแนนพบว่าบัตรเลือกที่ได้รับมาบกพร่องหรือชำรุดให้ส่งบัตรเลือกนั้นคืนแก่กรรมการคัดเลือก แล้วให้กรรมการคัดเลือกจัดบัตรเลือกให้แก่ผู้นั้นใหม่และให้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในแบบ กน. ๔

 

ข้อ ๒๑  ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่อยู่ในที่ประชุมลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้นายอำเภอสั่งปิดการลงคะแนน

 

หมวด ๖

การนับคะแนน

                       

 

ข้อ ๒๒  การนับคะแนน ให้กระทำ ณ ที่คัดเลือกกำนัน เมื่อปิดการลงคะแนนแล้ว ให้ทำการเปิดหีบบัตร และให้นับคะแนนโดยเปิดเผยต่อเนื่องจนแล้วเสร็จ ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงเวลา เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย

 

ข้อ ๒๓  ให้กรรมการคัดเลือกที่นายอำเภอแต่งตั้งดำเนินการ ดังนี้

(๑) กรรมการคัดเลือกคนที่หนึ่ง หยิบบัตรเลือกทีละฉบับและคลี่บัตรส่งให้กรรมการคัดเลือกคนที่สองเพื่อวินิจฉัยบัตรเลือกและอ่าน ดังนี้

ก. ถ้าเป็นบัตรดีที่ทำเครื่องหมายในช่องหมายเลขผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคัดเลือกให้ขานว่า “ดี” และอ่านหมายเลขของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อที่ได้คะแนน พร้อมทั้งชูบัตรเลือกโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่คัดเลือกได้เห็นด้วย

ข. ถ้าเป็นบัตรดีที่ทำเครื่องหมายในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ขานว่า “ดี” แล้วอ่านว่า “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” พร้อมทั้งชูบัตรเลือกโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่คัดเลือกได้มองเห็น

ค. ถ้าเป็นบัตรเสียให้ขานว่า “เสีย” พร้อมทั้งชูบัตรเลือกโดยเปิดเผย ให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณ ที่คัดเลือกได้เห็นด้วย และให้กรรมการคัดเลือกสลักหลังบัตรว่า “เสีย” และกรรมการคัดเลือกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อกำกับไว้

(๒) เมื่อวินิจฉัยตาม (๑) แล้ว ให้ส่งบัตรเลือกแก่กรรมการคัดเลือกคนที่สาม

 

ข้อ ๒๔  กรรมการคัดเลือกคนที่สาม มีหน้าที่รับบัตรเลือกเพื่อเจาะบัตรที่วินิจฉัยและอ่านแล้ว ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้โดยแยกเป็นภาชนะสำหรับใส่บัตรดีหนึ่งใบ ใส่บัตรดีที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนหนึ่งใบ และใส่บัตรเสียหนึ่งใบ

 

ข้อ ๒๕  กรรมการคัดเลือกคนที่สี่ มีหน้าที่ขีดคะแนนในแบบกรอกคะแนนตามแบบ กน. ๕ เมื่อกรรมการคัดเลือกคนที่สอง ได้วินิจฉัยบัตรเลือกและได้ขานว่า “ดี และอ่านหมายเลขของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อที่ได้คะแนน” หรือ “ดี และไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ “เสีย” แล้ว

 

ข้อ ๒๖  กรรมการคัดเลือกคนที่ห้า มีหน้าที่ขีดคะแนนตามแบบกรอกคะแนน กน. ๕ ช่องละห้าคะแนน บนกระดานหรือวัสดุอื่นทำนองเดียวกัน เมื่อกรรมการคัดเลือกคนที่สองได้วินิจฉัยบัตรเลือก และได้ขานว่า “ดี และอ่านหมายเลขผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ได้คะแนน” หรือ “ดี และอ่านไม่ประสงค์ลงคะแนน”หรือ ”เสีย” ให้กรรมการคัดเลือกคนที่ห้าขานทวนคะแนน แล้วจึงขีดคะแนนบนกระดานหรือวัสดุอื่นทำนองเดียวกัน โดยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่คัดเลือกเห็นการขีดคะแนนได้อย่างชัดเจน

 

ข้อ ๒๗  การขีดคะแนน ให้ใช้วิธีขีดหนึ่งต่อหนึ่งคะแนน แต่เมื่อถึงขีดที่ห้าให้ขีดขวางทับเส้นสี่ขีดแรก เช่น ดังรูป IIII หรือ IIII หรือ IIIIเป็นต้น เพื่อสะดวกแก่การนับคะแนนและให้ทำเช่นนี้เรื่อยไปทุกห้าขีด

 

ข้อ ๒๘  บัตรเลือกที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย

(๑) บัตรปลอม

(๒) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน

(๓) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้กับผู้ใด

(๔) บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนแล้วทำเครื่องหมายในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนด้วย

(๕) บัตรที่ทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมายเกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย

(๖) บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท

(๗) บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนนอก “ช่องทำเครื่องหมาย” หรือนอก “ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน”

(๘) บัตรที่มีเครื่องหมายสังเกต หรือข้อความอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้

 

ข้อ ๒๙  ในระหว่างการนับคะแนนถ้าผู้มีสิทธิลงคะแนนเห็นว่าการนับคะแนนไม่ถูกต้องให้ทำการทักท้วงโดยสุภาพ ไม่เป็นการกล่าวโต้ตอบกับกรรมการคัดเลือกหรือระหว่างผู้มีสิทธิลงคะแนนด้วยกันเองในลักษณะที่จะเป็นอุปสรรคแก่การนับคะแนน

ถ้าผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ทักท้วงได้ฝ่าฝืน ให้กรรมการคัดเลือกตักเตือนและหากยังขัดขืนอีกให้กรรมการคัดเลือกสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกไปจากที่คัดเลือก

ให้กรรมการคัดเลือกทำการตรวจสอบคำทักท้วง และวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำบันทึกเหตุการณ์และคำวินิจฉัยไว้ในแบบ กน. ๔ พร้อมแนบบันทึกถ้อยคำของผู้ทักท้วงนั้นไว้ด้วย

 

ข้อ ๓๐  กรณีที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนได้ทักท้วงการวินิจฉัยบัตรดี บัตรดีที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือบัตรเสีย ว่าเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้ ให้มีสิทธิร้องคัดค้านต่อนายอำเภอและให้นายอำเภอวินิจฉัยชี้ขาดทันทีและบันทึกเหตุการณ์ไว้ในแบบ กน. ๔

 

ข้อ ๓๑  เมื่อเสร็จสิ้นการนับคะแนนให้กรรมการคัดเลือกตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนน โดยให้นับจำนวนบัตรดี บัตรดีที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน และบัตรเสียว่าตรงกับจำนวนผู้ใช้สิทธิลงคะแนนหรือไม่

(๑) หากถูกต้องให้คณะกรรมการคัดเลือกลงลายมือชื่อในแบบกรอกคะแนนตามแบบ กน. ๕ และให้นายอำเภอประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ กน. ๖ ปิดไว้ ณ ที่คัดเลือกกำนัน ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แล้วรายงานประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ กน. ๖ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(๒) ถ้าจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนบัตรที่ใช้ลงคะแนน ให้กรรมการคัดเลือกนับคะแนนใหม่โดยพลัน ถ้าผลการนับคะแนนยังไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนอีกให้นายอำเภอจัดให้มีการลงคะแนนคัดเลือกใหม่ทันที

(๓) ถ้าผลการนับคะแนนที่ไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนตาม (๒) แล้วไม่ทำให้ผลการคัดเลือกนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องจัดให้มีการลงคะแนนคัดเลือกใหม่

 

ข้อ ๓๒  ในการออกเสียงลงคะแนนเพื่อคัดเลือกกำนัน เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้วมีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งคนได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้คณะกรรมการคัดเลือกจัดให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันนั้นทำการจับสลาก ณ ที่คัดเลือกกำนัน

กรณีที่นายอำเภอจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนน ให้กรรมการคัดเลือกนำบัตรดี บัตรดีที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน และบัตรเสีย แยกใส่ลงในถุงวัสดุใสพร้อมเขียนจำนวนบัตรที่บรรจุอยู่ในถุงวัสดุใสบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกชุดที่ใช้ลงลายมือชื่อรับบัตรเลือก แบบกรอกคะแนนตามแบบ กน. ๕ ที่ได้ใช้ในการกรอกคะแนนทั้งหมด แบบประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ กน. ๖ จำนวน ๑ ชุด บันทึกเหตุการณ์การคัดเลือกกำนันตามแบบ กน. ๔ ใส่ลงในหีบบัตร แล้วนำแบบ กน. ๗ ปิดช่องหย่อนบัตรแล้วปิดเทปกาวระหว่างหีบบัตรและฝาหีบ พร้อมใส่กุญแจหรืออุปกรณ์อื่นแทนกุญแจและให้ประจำครั่งทับรูกุญแจ เสร็จแล้วส่งมอบหีบบัตรให้แก่นายอำเภอเก็บรักษาไว้

 

ข้อ ๓๓  การจับสลากให้ดำเนินการดังนี้

(๑) การจับสลากครั้งที่หนึ่ง ให้ประธานกรรมการคัดเลือกเขียนชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ต้องจับสลากบนสลากที่เหมือนกันแล้วใส่ในภาชนะให้สลากคละกัน แล้วให้ประธานกรรมการคัดเลือกเป็นผู้จับสลากจากในภาชนะดังกล่าวขึ้นมาทีละหนึ่งใบ ชื่อผู้ใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับแรกให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิจับสลากในครั้งที่สองก่อน ชื่อผู้ใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับต่อไปให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิจับสลากในครั้งที่สองตามลำดับจนครบทุกคน

(๒) การจับสลากครั้งที่สอง ให้ประธานกรรมการคัดเลือกจัดทำสลากเท่ากับจำนวนผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันเป็นสลากซึ่งมีข้อความว่า “ได้รับคัดเลือกเป็นกำนัน” จำนวนหนึ่งใบ นอกนั้นเป็นสลากซึ่งมีข้อความว่า “ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นกำนัน” แล้วใส่ในภาชนะให้สลากคละกัน แล้วให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันตามลำดับของผลการจับสลากในครั้งที่หนึ่ง ทำการจับสลากจากในภาชนะดังกล่าวผู้ใดจับได้สลากซึ่งมีข้อความว่า “ได้รับคัดเลือกเป็นกำนัน” ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกำนันและให้บันทึกผลการจับสลากไว้ในแบบ กน. ๔

 

ข้อ ๓๔  หากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันไม่อยู่ ณ สถานที่จับสลาก หรืออยู่แต่ไม่ยินยอมจับสลาก ให้ประธานกรรมการคัดเลือกเป็นผู้จับสลากแทนผู้ที่ไม่อยู่หรือไม่ยินยอมจับสลากนั้น และให้บันทึกเหตุการณ์ในแบบ กน. ๔

 

ข้อ ๓๕  เมื่อได้มีการจับสลากเสร็จสิ้นแล้ว ให้นายอำเภอประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ กน. ๖ ปิดไว้ ณ ที่คัดเลือกกำนัน ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

 

ข้อ ๓๖  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ กน. ๖ หรือผลการประชุมคัดเลือกกำนันตามแบบ กน. ๓ แล้ว ให้ออกหนังสือสำคัญให้แก่ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกำนันไว้เป็นหลักฐาน โดยให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกำนันนับแต่วันที่ได้รับการคัดเลือกเป็นต้นไป

 

หมวด ๗

การคัดค้าน

                       

 

ข้อ ๓๗  เมื่อนายอำเภอมีประกาศผลการนับคะแนนตามแบบ กน. ๖ แล้ว ผู้ใดเห็นว่าการคัดเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ประสงค์จะให้มีการคัดเลือกกำนันใหม่ให้ทำคำร้องคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อนายอำเภอได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีประกาศดังกล่าว

เมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ และดำเนินการสอบสวนแล้วรายงานผลพร้อมความเห็นและหลักฐานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยชี้ขาดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้าน หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการคัดเลือกกำนันครั้งนั้นเป็นไปตามที่ได้มีการร้องคัดค้านหรือได้มีการกระทำไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้กำนันคนนั้นพ้นจากตำแหน่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการคัดเลือก แล้วให้นายอำเภอดำเนินการคัดเลือกกำนันใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้กำนันดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง

 

ข้อ ๓๘  เมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องคัดค้านการคัดเลือกกำนันว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ถ้านายอำเภอพิจารณาข้อมูลคำร้องคัดค้านแล้วเห็นว่าผู้ร้องคัดค้านสำคัญผิดในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์แห่งการรู้รักสามัคคีด้วยความพอใจของคู่กรณี ให้นายอำเภอเรียกผู้ร้องคัดค้านและผู้ถูกคัดค้านเสนอข้อเท็จจริงหรือข้อมูลเพิ่มเติมและชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว หากผู้ร้องคัดค้านได้เข้าใจข้อกฎหมายหรือเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้วผู้ร้องคัดค้านได้ขอถอนคำร้องคัดค้าน หรือไม่ประสงค์ให้พิจารณาเรื่องคำร้องคัดค้านต่อไป ให้บันทึกถ้อยคำผู้ร้องคัดค้านไว้และสั่งยุติเรื่อง หากผู้ร้องคัดค้านยังไม่พอใจ ให้นายอำเภอทำการสอบสวนและจัดทำความเห็นประกอบข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงคำร้องคัดค้านเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณา

 

ข้อ ๓๙  กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้กำนันพ้นจากตำแหน่งตามข้อ ๓๗ คำสั่งดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนต่อกิจการที่กำนันนั้นได้กระทำลงไปในขณะดำรงตำแหน่ง

 

ข้อ ๔๐  นายอำเภอจะทำลายบัตรเลือกและเอกสารที่เก็บอยู่ในหีบบัตรนั้นได้ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาคัดค้านการคัดเลือกตามข้อ ๓๗ แล้ว ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่มีการคัดค้านการคัดเลือก ให้นายอำเภอเก็บรักษาหีบบัตรจนกว่าเรื่องคัดค้านดังกล่าวจะถึงที่สุด

 

 

ประกาศ ณ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

[เอกสารแนบท้าย]

 

๑.  ประกาศอำเภอ............................เรื่อง การคัดเลือกกำนัน (กน. ๑)

๒.  บันทึกรายงานการประชุมคัดเลือกกำนัน ตำบล.............อำเภอ.............. จังหวัด............. วันที่........เดือน.................. พ.ศ. .............ณ ............. (กน. ๒)

๓.  ประกาศอำเภอ............................เรื่อง ผลการคัดเลือกกำนัน (กน. ๓)

๔.  บันทึกเหตุการณ์การคัดเลือกกำนัน (กน. ๔)

๕.  แบบกรอกคะแนน ในการคัดเลือกกำนัน ตำบล.................อำเภอ.............จังหวัด.................เมื่อวันที่ ...............เดือน...................พ.ศ. .....ณ ที่ว่าการอำเภอ............ (กน. ๕)

๖.  ประกาศอำเภอ............................เรื่อง ผลการนับคะแนน (กน. ๖)

๗.  ป้ายสำหรับปิดช่องหย่อนบัตรคัดเลือกกำนัน (กน. ๗)

 

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)