"ปกครอง" แจงภารกิจอำนาจหน้าที่ ตั้งจุดตรวจช่วงปีใหม่

16 มกราคม 2563


16 มกราคม 2563

เตรียมความพร้อมก่อนตั้งจุดตรวจปีใหม่

เช็คลิสต์4ข้อจุดตรวจฝ่ายปกครอง


ใกล้จะถึงช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่แล้ว ฝ่ายปกครองทุกท้องที่มีความพร้อมสำหรับการออกตั้งจุดตรวจป้องกันอุบัติเหตุและรักษาความสงบเรียบร้อยกันรึยังครับ? แต่ก่อนที่เราจะมาเช็คความพร้อมก่อนออกปฏิบัติงานกัน ผมขอเคลียร์ให้ชัดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจของพนักงานฝ่ายปกครองก่อนนะครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การตั้งด่านนั้นจริงๆ ในทางทฤษฎีแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ (1) ตั้งด่าน (2) ตั้งจุดตรวจ และ (3) ตั้งจุดสกัด ซึ่งที่พวกเราฝ่ายปกครองเข้าใจว่า เราออกไป “ตั้งด่าน” นั้น ในทางทฤษฎีดังกล่าว จริงๆ คือ การ “ตั้งจุดตรวจ” ต่างหากละครับ เพราะถ้าเป็นการตั้งด่านนั้นจะหมายถึง การตั้งด่านบนถนนสายหลัก ที่มีลักษณะเป็นการถาวร มีป้อมหรือที่พำนักของเจ้าหน้าที่ หรืออาจมีแผงกั้น แบริเออร์ หรือไม้กั้น ซึ่งการตั้งด่านลักษณะนี้จะต้องขออนุญาตจาก ครม. กรมทางหลวง หรือ กอ.รมน. เสียก่อน

แต่ที่ฝ่ายปกครองเราตั้งกันช่วงเทศกาลสำคัญ หรือตั้งเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน รวมทั้งการตั้งจุดตรวจค้นหาผู้เสพสารเสพติด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ด่านชุมชน” จริงๆ แล้ว คือ “จุดตรวจ” ซึ่งจุดสำคัญที่แตกต่างจากการตั้งด่าน คือ จุดตรวจนั้นเราทำเป็นการชั่วคราว โดยมีกําหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจําเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว เช่น พ้นกำหนด 7 วันอันตรายแล้ว หรือค้นหาผู้เสพเสร็จแล้ว ฯลฯ ก็จะยุบจุดตรวจนั้นไป

ซึ่งการ “ตั้งจุดตรวจในชุมชนของพนักงานฝ่ายปกครอง” ระดับตำบลหรือหมู่บ้าน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจากเป็นนโยบายสำคัญของทางรัฐบาลในเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุแล้ว ยังเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ และตาม ป.วิ.อาญา ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจทำการสืบสวนหรือทำการค้นในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้

เช่นนี้ ขอให้ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) ก่อนนำสมาชิก อส. หรือ ชรบ. ออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจในชุมชน ก็ขอให้เช็คและเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติงานกันก่อนดังนี้นะครับ

1. การขออนุญาต/อนุมัติ และการรายงานผู้บังคับบัญชา
ในการตั้งจุดตรวจลดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ หรือการตั้งจุดตรวจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาผู้เสพสารเสพติดนั้น ไม่ว่าระดับใด จะระดับตำบลหรือหมู่บ้าน ก็ควรต้องทำการขอนุญาต/อนุมัติจากท่านนายอำเภอเสียก่อน หรือในทางปฏิบัติอาจให้ปลัดอำเภอปฏิบัติราชการแทนนายอำเภออนุญาต/อนุมัติแทนก็ได้ ซึ่งการอนุมัติก็ควรจะออกเป็นคำสั่งอำเภอ หรือมีการทำบันทึกข้อความขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุที่ตั้ง วัน เวลา และหัวหน้าหรือผู้ควบคุมจุดตรวจไว้ให้ชัดเจน ส่วนการตั้งจุดตรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปรามการกระทำผิดต่างๆ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ โดยตรงนั้น เมื่อพบเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยหรือพบการกระทำผิดก็ขอให้เร่งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบ หรือหากได้ดำเนินการตั้งจุดตรวจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรรายงานให้อำเภอทราบตามลำดับชั้นต่อไป

2. อุปกรณ์สำหรับการตั้งจุดตรวจที่เป็นมาตรฐาน
ในการออกไปตั้งจุดตรวจก็ควรมีอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ให้พร้อม
(1) ไฟส่องสว่างในจุดตรวจ เพราะในบางครั้งไฟถนนอาจสว่างไม่เพียงพอ อาจต้องมีการติดหลอดไฟเพิ่มเติม
(2) ป้าย “หยุดตรวจ” เพื่อสื่อให้ผู้ขับขี่ทราบว่า นี่คือจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ หากเป็นไปได้ควรมีป้ายระบุให้ชัดเจนเลยว่านี่เป็นจุดตรวจของหน่วยงานใด
(3) กรวยยางหรือแผงกั้น สำหรับบังคับและจัดช่องทางเดินรถ
(4) นกหวีด ไฟฉาย กระบอกไฟ ถุงมือ และเสื้อสะท้อนแสง สำหรับเรียกรถหยุดหรือทำการจราจรต่างๆ
(5) วิทยุสื่อสาร สำหรับให้เจ้าหน้าที่ภายในจุดตรวจทุกคน/ทุกตำแหน่งสื่อสารกันได้ ตลอดจนการสื่อสารออกไปยังด่านหรือจุดตรวจอื่นๆ
(6) กล้องบันทึกภาพ ในยุคปัจจุบันกล้องพวกนี้หาซื้อได้ง่ายขึ้นและมีราคาไม่แพงนัก (1,000 - 2,000 บาท) ซึ่งภาคประชาชนก็ยังนิยมหาซื้อมาติดตั้งไว้ในรถยนต์ก็เยอะแยะ ซึ่งในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หากมีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้น ภาพ/เสียงจากกล้องที่บันทึกไว้นี้ก็อาจใช้เป็นพยานหลักฐานกันตัวเจ้าหน้าที่ได้ และถ้าจะให้ดีจริงๆ ขณะปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็ควรมีกล้องติดไว้ที่ตัวเจ้าหน้าที่เลยก็จะดีที่สุด
(7) เครื่องพันธนาการ กรณีต้องมีการจับกุมผู้กระทำผิดหรือใช้เพื่อควบคุมตัวบุคคล
(8) หน่วยแพทย์หรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น อันนี้เตรียมไว้กรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
(9) รถยนต์พร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงและพลขับ สำหรับกรณีต้องมีภารกิจออกไปติดตามผู้ต้องสงสัย/ผู้กระทำผิด การนำส่งตัวผู้กระทำผิดไปสถานีตำรวจ หรือการนำตัวผู้ป่วยหรือคนเจ็บส่งโรงพยาบาล เป็นต้น
(10) เอกสารหรือแบบฟอร์มต่างๆ เช่น คําสั่งอำเภอที่ให้ออกปฏิบัติหน้าที่ บัตร ป.ป.ส./บัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แบบบันทึกการจับกุม แบบยินยอมเข้ารับการบำบัดฯ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 ฯลฯ
(10/1) อุปกรณ์การตรวจต่างๆ เช่น เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ หรืออุปกรณ์ตรวจสารเสพติด ฯลฯ

3. การจัดกำลังและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ
ในการปฏิบัติงานนั้น ควรมีการวางแผน จัดกำลังและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจให้ชัดเจน โดยควรแบ่งจุดตรวจออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
(1) ส่วนหน้า แยกออกเป็น 2 หน้าที่หลักๆ ได้แก่
(1.1) Scout หน้า ทำหน้าที่สอดแนมหรือดูต้นทางให้กับจุดตรวจ เพื่อสกรีนรถหรือบุคคลต้องสงสัยหรือที่เป็นเป้าหมาย ก่อนที่ยานพาหนะหรือบุคคลนั้นจะถึงจุดตรวจ
(1.2) Stopper ทำหน้าที่ในการแสดงตัวและเรียกรถหรือบุคคลต้องสงสัยหรือที่เป็นเป้าหมายเข้ามาเพื่อตรวจสอบ
(2) ส่วนกลาง แยกออกเป็น 2 ส่วนย่อย ได้แก่
(2.1) ส่วนตรวจสอบ คือ พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จักทำการตรวจสอบรถหรือบุคคลในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น การตรวจค้นของผิดกฎหมาย หรือการตรวจสอบเอกสาร เช่น ตรวจบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ ฯลฯ รวมถึงการตรวจแอลกอฮอล์หรือข้อพิรุธ/สิ่งผิดปกติต่างๆ ตลอดจนเมื่อพบการกระทำผิดก็จักต้องทำการจับกุมปราบปรามหรือตรวจยึดของผิดกฎหมายนั้น
(2.2) ส่วนพื้นที่ปลอดภัย มีไว้สำหรับเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จักทำการตรวจสอบอย่างละเอียด เช่น การตรวจทดสอบหาสารเสพติด ฯลฯ โดยผู้ถูกตรวจจะต้องเข้ามาตรวจในพื้นที่นี้แทนการตรวจอยู่บนผิวถนนหรือไหล่ทาง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจ และเพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจรหรือทำให้การจราจรติดขัด รวมถึงใช้เป็นพื้นที่สำหรับพำนักของฝ่ายอำนวยการหรือให้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาพักผ่อน หรือไว้ให้ผู้ป่วยหรือผู้ถูกจับกุมได้พักคอยก่อนส่งตัวต่อไป
(3) ส่วนหลัง แยกออกเป็น 2 หน้าที่หลักๆ
(3.1) ทำหน้าที่จัดระเบียบการจราจร ได้แก่ การบังคับให้รถหยุดและจอด และการให้รถออกจากจุดตรวจเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ
(3.2) เป็นส่วนที่ต้องมีรถของเจ้าหน้าที่สแตนบายเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติภารกิจฉุกเฉิน เช่น การออกติดตามรถฝ่าหรือไม่เข้าจุดตรวจ หรือการเป็นรถพยาบาลออกไปส่งผู้บาดเจ็บ รวมทั้งกรณีหากมีการจับกุมก็จักต้องออกนำตัวผู้ถูกจับกุมไปส่งยังที่ทำการของพนักงานสอบสวน เป็นต้น

4. ข้อแนะนำวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ
(1) ควรมีการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติก่อนออกตั้งจุดตรวจจริง และควรมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุกรณีต่างๆ
(2) เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจควรได้รับการฝึกให้มีทักษะและองค์ความรู้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเทคนิควิธีการเรียกตรวจค้น การพูดคุยกับประชาชน การค้นรถหรือตัวบุคคล และการจับกุมหรือตรวจยึดสิ่งของผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป
(3) หลักในการพิจารณาเลือกที่ตั้งจุดตรวจ ให้พิจารณาจากความเหมาะสมโดยเน้นในเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ จุดตรวจต้องไม่อยู่ในพื้นที่อันตราย อันตรายในที่นี้ คือ เป็นอันตรายต่อตัวผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจ เช่น จุดตรวจไม่ควรอยู่ในทางโค้ง เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเห็นและสามารถหยุดรถได้ทัน
(4) การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่และการเรียกตรวจค้น ป.วิ.อาญา กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัย การเรียกตรวจโดยไม่มีหมายค้นนั้น ในที่สาธารณะเป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต้องแสดงตัวให้ชัดเจนว่า เราเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง โดยการแต่งเครื่องแบบ หรืออย่างน้อยก็ต้องสวมเสื้อที่ระบุชื่อสังกัดให้ชัดเจน และจะต้องแจ้งด้วยวาจาให้ผู้ถูกตรวจทราบด้วยว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดใด มาปฏิบัติหน้าที่อะไร โดยใช้วาจาที่ชัดเจนและกิริยาสุภาพนุ่มนวล ก่อนเริ่มทำการตรวจ
(5) หลักพิจารณาในการเรียกตรวจรถหรือบุคคลต้องสงสัยหรือเป้าหมาย จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่ารถหรือบุคคลนั้นอาจได้กระทำความผิดหรือมีสิ่งของผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง เช่นนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องสามารถระบุถึงเหตุผลหรือสาเหตุให้ได้ว่า เพราะเหตุสงสัยใดจึงได้เรียกรถหรือบุคคลนั้นตรวจ ซึ่งอาจจะต้องอธิบายให้ได้ถึงพฤติกรรมต้องสงสัยว่าเป็นอย่างไร หรือมีสายข่าวอย่างไรที่แจ้งว่า รถหรือบุคคลนั้นๆ เป็นเป้าหมาย หรืออย่างน้อยก็ต้องสามารถระบุได้ว่า มีการสืบสวนหรือมีสาเหตุใดที่เจ้าหน้าที่ต้องมาตั้งจุดตรวจตรงจุดนี้ เช่น เพราะมีเบาะแสว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางขนส่งยาเสพติด หรือเป็นจุดเสี่ยงที่มีการทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ เป็นต้น
(6) ก่อนทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่จะต้องชี้แจง แสดงเหตุผลความจำเป็น ความบริสุทธิ์ใจ และทำความเข้าใจกับผู้ถูกค้นเสียก่อน และในขณะทำการตรวจค้นรถ เจ้าหน้าที่จะต้องให้เจ้าของรถหรือผู้ขับมาดูและมองเห็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา
(6/1) กรณีต้องการขอตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย ก็ให้ดำเนินการตามนี้ http://multi.dopa.go.th/criminal/news/cate2/view57
(7) กรณีตรวจพบสิ่งของผิดกฎหมาย ให้แจ้งผู้ถูกตรวจหรือผู้ครอบครองทราบและสอบถามรายละเอียดที่มาที่ไปเสียก่อน หากเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วน่าเชื่อว่าเป็นของผิดกฎหมาย ก็ให้ทำการตรวจยึด โดยให้ทำการถ่ายภาพสิ่งของนั้นไว้เป็นหลักฐานก่อนจะทำการตรวจยึด ทั้งนี้ จะต้องทำบันทึกการตรวจยึดให้ผู้ครอบครองลงรายมือชื่อรับทราบ และส่งพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
(8) กรณีมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจจักต้องพกพาอาวุธปืนติดตัว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันตัวหรือปราบปรามการกระทำผิด ก็จักต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า ถ้าแต่งเครื่องแบบก็ให้พกอาวุธปืนแบบพกนอกได้ แต่ถ้าไม่ได้แต่งเครื่องแบบต้องพกมิดชิด (มองไม่เห็นอาวุธปืน)
(9) กรณีมีเหตุการณ์ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือมีการหลบหนี เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวได้เท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ และระดับการใช้กำลัง ควรกระทำจากเบาไปหาหนัก แต่หากเป็นไปได้ควรใช้วิธีการเจรจา และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน อาทิเช่น เกิดกรณีการหลบหนีให้พยายามติดตามและแจ้งประสานงานเพื่อสกัดจับ ซึ่งหากไม่จำเป็นอย่างยิ่งก็ไม่ควรใช้วิธีการยิงปืนเพื่อสกัดหยุดยั้ง
(10) เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ตั้งแต่การแสดงตัวตลอดจนขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ แล้ว หากไม่ได้รับความร่วมมือจนเกินสมควร เช่น เกิดกรณีขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือทำร้ายเจ้าพนักงาน ฯลฯ เจ้าพนักงานมีสิทธิที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดดังกล่าวได้ โดยเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจควรต้องบันทึกวีดีโอเพื่อไว้ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีดังกล่าวด้วย

++ สรุปเช็คลิสต์ 4 ข้อ #จุดตรวจฝ่ายปกครอง ได้แก่
1.การขออนุญาต/อนุมัติ และการรายงานผู้บังคับบัญชา
2.อุปกรณ์สำหรับการตั้งจุดตรวจที่เป็นมาตรฐาน
3.การจัดกำลังและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ
4.วิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ
จริงๆ แล้วเป็นเพียงข้อแนะนำเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้นำไปตรวจเช็คและเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัยและป้องกันความเสียหายหรือการสูญเสียต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ควบคู่ไปกับการให้บริการและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ก่อนที่จะออกไปปฏิบัติงานจริงเท่านั้น แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ในบริบทของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะที่เป็นหน้าที่ของหัวหน้าผู้ปกครองท้องที่ อย่างท่านกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ นั้น มิได้มุ่งเน้นในเรื่องของการจับกุมปราบปรามเป็นสำคัญ เพียงแต่อยากให้มีการปรากฎกายของพนักงานฝ่ายปกครองให้อยู่ในพื้นที่ เพียงเท่านี้ผมเชื่อว่า ก็ทำให้พี่น้องประชาชนอบอุ่นใจ และผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความยำเกรงแล้วละครับ

สุดท้ายนี้ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้พนักงานฝ่ายปกครองทุกท่านที่กำลังทุ่มเทเสียสละแรงกายแรงใจและอดหลับอดนอนทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือไม่ว่าเวลาใด เพื่อดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก และรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับพี่น้องประชาชนได้นอนหลับอย่างสบายและใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข ผมเชื่อว่า ความเสียสละของพวกท่าน พี่น้องประชาชนเห็นและรับรู้ได้นะครับ

“บำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ หน้าที่และเกียรติยศของพวกเรา #พนักงานฝ่ายปกครอง

ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์
ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา
สำนักการสอบสวนและนิติการ
กรมการปกครอง
23 ธ.ค. 2562

*ขอขอบคุณหัวหน้าราเยส ราย หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการพิเศษสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง ที่ได้มาช่วยให้คำแนะนำด้วยนะครับ

#สสอ#ส่วนการสอบสวนคดีอาญา
#เชี่ยวชาญการดำเนินคดีอาญาประชาชนได้รับความเป็นธรรม