ประวัติกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์

          วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฉบับใหม่แทนฉบับเก่าซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 และปรับปรุงใน พ.ศ. 2532 เนื้อหาหลักในร่างพระราชบัญญัติใหม่ คือ การโอนย้ายกิจการฮัจย์จากการดูแลโดยกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยการจัดตั้งกองหรือสำนักเพื่อดูแลงานด้านกิจการฮัจย์ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการ รวมถึงปรับปรุงอำนาจของจุฬาราชมนตรีในฐานะอะมีรุ้ลฮัจย์หรือผู้นำผู้แสวงบุญฮัจย์ชาวไทย กิจการฮัจย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมุสลิมทุกคน ประเทศไทยแม้มิใช่่ประเทศมุสลิมทว่าได้ดูแลกิจการฮัจย์มาเป็นอย่างดี ขณะนี้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปมาก ทางคณะรัฐมนตรีโดยคำปรึกษาหารือของสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเห็นว่าควรปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ จึงเป็นที่มาของการเสนอพระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฉบับใหม่

          พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ที่ได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 ทำให้มีการเปลี่ยนสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย จากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดังนั้นการดำเนินงานกิจการฮัจย์ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการปกครอง (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์) ซึ่งมีความพร้อมด้านหน่วยงานและบุคลากรในแต่ละพื้นที่ จะสามารถให้บริการในด้านต่าง ๆ แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมอย่างทั่วถึง