สรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓

23 เมษายน 2563


28 เมษายน 2563

สรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓

                        พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๓๐ ก วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๓  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีเหตุผลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการปฏิบัติงานของภาครัฐและการประกอบกิจกรรมในทางเศรษฐกิจของเอกชนในสถานการณ์ที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ พระราชกำหนดนี้ได้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง   การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ เนื่องจากประกาศดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับองค์ประชุม โดยผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุมต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาดของโรคในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓  มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

                   ๑. การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุม หมายถึง คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งต้องชี้แจงแสดงคิดเห็นต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลนั้นด้วย (มาตรา 4)

                       การประชุมที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดดังกล่าว ได้แก่ การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา        และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล การประชุม เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ และการประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 5)

                       1.1 วิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

                             (1)   การประชุมตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะกำหนดให้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้มีผลเช่นเดียวกับการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (มาตรา 6)

                             (2) การประชุมต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 7)

                                  ทั้งนี้ ให้มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ จนกว่าจะมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกตามพระราชกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ (มาตรา 12)

                             (3) การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ (มาตรา 8)

                       1.2  หน้าที่ของผู้จัดการประชุมในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 9)       มีดังนี้

                              (1) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนก่อนเข้าร่วมประชุม

                              (2) จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งโดยเปิดเผยและโดยลับ

                              (3) จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ

                              (4) จัดให้มีการบันทึกเสียง หรือทั้งเสียงและภาพ ของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการประชุม เว้นแต่เป็นการประชุมลับ

                         (5) เก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน (ข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ข้อมูลการติดต่อสื่อสารของระบบอิเล็กทรอนิกส์ แสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อ สื่อสารของระบบอิเล็กทรอนิกส์)

                               ข้อมูลตาม (4) และ (5) ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม

                   2. การจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน

                       หากมีกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ร่วมประชุม ให้จ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนนั้นให้แก่ผู้ร่วมประชุมซึ่งได้แสดงตนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 10)

                   3. ผลของการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

                       3.1 ให้ถือว่าการการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้ เป็นการประชุมโดยชอบตามกฎหมาย (มาตรา 11)

                       3.2 ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้ เป็นพยานหลักฐานในกระบวนพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 11)

                       3.3 การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ให้ถือว่าเป็นการประชุมที่ชอบด้วยพระราชกำหนดนี้ (มาตรา 12)

                   4. ผู้รักษาการ

                       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

 

 

______________________

                                                                                                           ส่วนงานนิติการ  สำนักการสอบสวนและนิติการ

                                                                   กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

                                                                   โทร./โทรสาร 0 2356 9569