ข้อมูลองค์กร

ประวัติความเป็นมา
ปี พ.ศ. 2500 จัดตั้งเป็น "กองสอบสวนและนิติการ" ผู้บริหารสูงสุด ดำรงตำแหน่ง "หัวหน้ากองการสอบสวนและนิติการ"
ปี พ.ศ. 2521 ตั้ง "ฝ่ายวิทยุสื่อสาร" ในกองการสอบสวนและนิติการ
ปี พ.ศ. 2522 เปลี่ยนชื่อเรียกผู้บริหารสูงสุดจาก "หัวหน้ากองการสอบสวนและนิติการ" เป็น "ผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการ"
ปี พ.ศ. 2535 แยกฝ่ายวิทยุสื่อสารออกไปจากกองการสอบสวนและนิติการ ไปจัดตั้งเป็นกองภายใน ชื่อ กองการสื่อสาร
ปี พ.ศ. 2536 จึงได้จัดตั้งเป็นกองการสื่อสาร
ปี พ.ศ. 2545 ยกฐานะจาก "กองสอบสวนและนิติการ" เป็น "สำนักการสอบสวนและนิติการ" ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2545 และเปลี่ยนชื่อเรียกผู้บริหารสูงสุด เป็น "ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ"
อำนาจหน้าที่
1. อำนาจหน้าที่ตามโครงสร้าง
1.1 ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2545 ข้อ 3(7) สำนักการสอบสวนและนิติการ มีอำนาจหน้าที่
(ก) ดำเนินการเกี่ยวกับงานกฎหมาย งานนิติกรรม และสัญญา งานเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรม รวมทั้งการให้ คำปรึกษา วินิจฉัย และตีความข้อกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม
(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญาบางประเภท และคดีอาญาทั่วไปการอำนวยการและประสานงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย การปราบปรามอาชญากรรมรวมถึงการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในความรับผิดชอบของนายอำเภอ
(ค) ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
1.2 ตามกฎหมายอื่น
กฎหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการสอบสวนและนิติการมีจำนวนทั้งสิ้น 28 ฉบับ ดังนี้
1) พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474
2) พ.ร.บ.ภาพยนต์ พ.ศ. 2473
3) พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477
4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477
5) พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478
6) พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด พ.ศ. 2480
7) พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484
8) พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
9) พ.ร.บ.ให้อำนาจทหารเรื่อปราบปรามกาารกระทำผิดบางอย่างทะเล พ.ศ. 2490
10) พ.ร.บ.เพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางน้ำ พ.ศ. 2496
11) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499
12) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
13) พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509
14) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
15) พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526
16) พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
17) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถานที่ผลิตปิโตรเลี่ยมในทะเล พ.ศ. 2530
18) พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530
19) พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
20) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534
21) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด พ.ศ. 2534
22) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
23) พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540
24) พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2541
25) พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2545
26) พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547
27) ปว. ฉบับที่ 45 (จำกัดเวลาสำหรับการเล่นและการจำหน่ายในสถานเล่นโบว์ลิ่ง สถานเล่นสเก็ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม)
28) ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 2 ส่วนที่ 2 - 3 สมาคม - มูลนิธ
2. ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
2.1 ผู้มีอิทธิพล
รัฐบาลมีนโยบายในการปราบปรามเพื่อขจัดผู้มีอิทธิพลที่สร้างความเดือดร้อนกดขี่ข่มเหงประชาชนให้หมดสิ้นไป จึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงาน โดยยึดหลักพื้นทีรับผิดชอบ (Area Approach) และมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการในเชิงบูรณาการ (CEO) และผู็บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ใช้กระบวนการประชาคมชุมชน/หมู่บ้านในพื้นที่ ร่วมแสดงความคิดเห็นและจัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มบุคคลเป้าหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างละเอียดรอบคอบ ถูกต้อง และเป็นธรรม
2.2 ภารกิจตามกฎหมาย 6 ฉบับ
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ให้กองทะเบียน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โอนภารกิจตามกฎหมาย 6 ฉบับ ที่อยู่ในความรับผิดชอบมาให้กระทรวงมหาดไทยตามนัยมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการปกครอง เป็นหน่วยดำเนินงานตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1) พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
2) พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478
3) พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474
4) พ.ร.บ.ควบคุมการเรียไร พ.ศ. 2487
5) พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505
6) พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547
สำนักการสอบสวนและนิติการได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยดำเนินการ จึงได้จัดตั้งศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง (วังไชยา) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว โดยให้บริการประชาชนในลักษณะ One Stop Service